Exclusive Interview ดำเกิง-ธำรงค์ ปิยนราพร

Exclusive Interview ดำเกิง-ธำรงค์ ปิยนราพร
ชายหนุ่มผู้บุกเบิกอีโค เทรล ในประเทศไทย และเจ้าของร้านอุปกรณ์วิ่งเทรล-เดินป่า PathWild

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐและเอกชนหลายฝ่ายพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ไม่เฉพาะในประเทศไทย แม้แต่องค์กรระดับโลกอย่างองค์การสหประชาชาติ (United Nation) เองก็ยังเล็งเห็นถึงประโยชน์ และจัดตั้งวันที่ 11 ธันวาคมของทุกปี ให้เป็นวันแห่งภูผาโลก หรือ International Mountain Day ซึ่งธีมหลักของปี 2021 จะเน้นเรื่องของความยั่งยืนจากการท่องเที่ยว โดยจะรณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกติดแฮชแท็ก #MountainsMatter ในโพสต์รูปภาพวิวทิวทัศน์จากภูเขาที่ชื่นชอบมากที่สุด

 

ส่วนของประเทศไทยเองเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็มีหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจเกิดขึ้น นั่นคือการเชิญชวนนักวิ่งเทรลจากงาน The Booster ไปช่วยกันเดินเก็บขยะบนเขาแด่น จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่จัดงานวิ่งตลอดทั้งเดือน เพื่อคืนความสะอาดและสร้างทัศนวิสัยที่ดีให้แก่ภูเขาและชุมชน

 

ทรูวิชั่นส์จึงไม่รอช้ารีบติดต่อไปยัง ธำรงค์ ปิยนราพร หรือ “ดำเกิง” นามแฝงในวงการที่ใช้มาตลอดกว่า 20 ปีของชายหนุ่มอารมณ์ดี ที่คนเดินป่าและวิ่งเทรลคุ้นเคย เขาคือแม่ทัพผู้บุกเบิกการจัดงานสไตล์อีโคเทรล รายแรกๆ ของประเทศไทย และอยู่เบื้องหลังงานวิ่ง The Booster และงานเก็บขยะที่ผ่านมา

 

ดำเกิงเกริ่นให้ฟังว่า ทุกอย่างที่เขาทำในวันนี้เกิดจากความรักในการเดินป่าที่มีมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ สะสมประสบการณ์กว่า 20 ปีในการเดินทางท่องเที่ยวธรรมชาติมาจากเหนือจรดใต้ ลามไปยังต่างประเทศ เขาได้เก็บเกี่ยวเอาสิ่งละอันพันละน้อยที่ได้พบเห็น มาปรับใช้กับธุรกิจส่วนตัว ร้าน PATHWILD แหล่งรวบรวมอุปกรณ์เดินป่า ปีนเขา และวิ่งเทรลทุกชนิด ที่เพิ่งขยับขยายมายังโลเกชั่นใหม่ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ให้ลูกค้าได้เดินทางสะดวกสบาย และเลือกซื้อสินค้าได้หลากหลายกว่าเดิม

 

นอกจากนั้นเขายังนำเอาความถนัดที่สั่งสมมา ต่อยอดมาจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดทัวร์เดินป่า และกิจกรรมวิ่งเทรลระดับประเทศหลายๆ งานที่ต่างเป็นหมุดหมายครั้งหนึ่งในชีวิตของนักวิ่งที่ต้องการพิชิต ไม่ว่าจะเป็นสนาม ทุ่งแสลงหลวง ลังกาหลวง หลวงพะเยา พริบพรีอีโคเทรล (PET) ตลอดจนล่าสุด The Booster สนามฝึกซ้อมเฉพาะกิจที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา


 

เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้กลายเป็นอาชีพ

 

“ต้องย้อนให้ฟังก่อนว่าการเดินป่าก็เป็นไลฟ์สไตล์ตั้งแต่สมัยเรียนของผมเอง เรียนจบก็เป็นพนักงานบริษัทเหมือนกันนี่แหละ ทุกวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็จะแบกเป้เดินป่า สมัยนั้นการวิ่งเทรลในเมืองไทยยังไม่มีใครรู้จักเลย ใกล้เคียงที่สุดก็น่าจะเรียกว่า ครอสคันทรี่ ซึ่งจะเป็นลักษณะของการวิ่งบนถนนลูกรัง คันนาบ้าง ที่ฝรั่งจะเรียกกันว่า Gravel Road อะไรแบบนี้ เราก็จะแบกเป้เดินป่าไปเที่ยวเป็นสไตล์แบ็คแพ็ค วันจันทร์ก็กลับมาทำงาน เป็นแบบนี้มาตลอดจนวันหนึ่งได้มีโอกาสเปิดร้าน ก็ค่อยๆ ขยับขยาย นำเข้าอุปกรณ์เดินป่า เป็นตัวแทนจำหน่าย และก็กลายเป็นธุรกิจร้าน PATHWILD ในปัจจุบัน”

 

จากที่เป็นคนชอบเดินป่าเป็นชีวิตจิตใจ หลังจากเริ่มธุรกิจส่วนตัวได้ไม่นาน ก็มีเสียงเรียกร้องจากคนรอบข้างที่อยากลองเที่ยวแบบธรรมชาติดูบ้าง ทำให้หนุ่มสายเลือดนักผจญภัยอย่างเขาตัดสินใจนำเอาเสียงเรียกร้องเหล่านั้นต่อยอดออกไปเป็นธุรกิจการท่องเที่ยว ดำเกิงเริ่มจัดทัวร์เดินป่าทั้งในไทยและต่างประเทศ กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2559 เขาก็ได้รับการติดต่อจากป๋าคมรัฐ เทรกกิ้งไกด์วัยเก๋า และ หมออีม-นภัสพร ชำนาญสิทธิ์ ทันตแพทย์หญิงไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ที่ขณะนั้นกำลังเดินสายหาผู้สนับสนุนในการเดินทางไปพิชิตเอเวอเรสต์ ส่งผลให้เขาได้ชิมลางจัดกิจกรรมวิ่งเทรลเป็นครั้งแรก

 

“น่าจะเป็นการจับพลัดจับผลูมากกว่า” ดำเกิงยืนยันหนักแน่น เพราะในฐานะที่รู้จักกันมายาวนานในฐานะนักเดินป่า เขาและทางร้านได้ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในโครงการพิชิตเอเวอเรสต์ไปตามกำลัง แต่ความที่โครงการต้องใช้เงินจำนวนมาก ยังขาดอีกเยอะ “เรามองแล้วก็คิดว่าต้องใช้มุมมองทางการตลาดช่วย เราก็จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา เราจัดดูหนัง (มีเรื่อง Everest เข้าในปีนั้นพอดี) ทำเสื้อ ทำของชำร่วยขาย และสุดท้าย คือจัดกิจกรรมวิ่งเทรล ตอนนั้นเราก็บอกวัตถุประสงค์กับนักวิ่งตรงๆ เลย ว่าเราจัดเพื่อต้องการเงินไปสนับสนุนหมออีมกับป๋าคมรัฐในการปีนเอเวอเรสต์นะ นักวิ่งก็มาช่วยกัน”

 

 

ความบังเอิญในจังหวะที่พอดี

 

“วิ่งเทรลสมัยนั้นถือว่าค่อนข้างใหม่ในเมืองไทย งานวิ่งตะนาวศรีก็เพิ่งจัดปีแรก ก็อาจนับได้ว่าเราก็เป็นหนึ่งในผู้จัดงานวิ่งเทรลรายแรกๆ ในเมืองไทย เราจัดงานวิ่งที่ทุ่งแสลงหลวง ลังกาหลวง ดอยหลวงพะเยา หรืออีกชื่อที่เรียกกันว่าดอยหนอก และอีกหลายแห่ง รวมแล้วถึงตอนนี้มากกว่า 20 งาน ซึ่งกลายเป็นว่าเราใช้ความถนัดของเราจากการเที่ยวป่ามาเป็นสิบปีโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ” ดำเกิงยิ้มอย่างภาคภูมิใจก่อนกล่าวต่อว่า “ความบังเอิญที่เราเชี่ยวชาญเรื่องการเดินป่า การทำเส้นทางท่องเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติ ตามสถานที่ท่องเที่ยวดังๆ แล้วพอมาจัดงานวิ่งเทรล มันดันประสบความสำเร็จ หลายสนามทุกวันนี้ก็ยังจัดงานวิ่งอยู่ ถึงแม้ทุกวันนี้ว่าผมจะลดบทบาทลงมาค่อนข้างมากแล้ว เพราะการจัดงานแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเยอะ ผมไม่มีเวลามากพอเพราะมีธุรกิจที่ต้องดูแล ก็เลยขอพัก ส่งไม้ให้ป๋าคมรัฐทำต่อ แต่เราก็ยังคงช่วยเท่าที่ช่วยได้”

 

จากประสบการณ์อันช่ำชองหลายปีที่ดำเกิงได้เก็บเกี่ยวมา ทำให้แม้เขาจะลดบทบาทหน้าที่ในการจัดงานใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดลง แต่ก็ยังคงได้รับการติดต่อทาบทามจากพี่น้องในวงการวิ่งอยู่อย่างไม่ขาดสาย 

 

“เมื่อ 2 ปีก่อน ได้มีโอกาสคุยกับ พี่กบ พี่ที่รู้จักกันในวงการเดินป่ามานานกว่า 10 ปี พี่กบบอกว่ามีพื้นที่ที่เขาแด่น จังหวัดเพชรบุรี พอจะจัดงานวิ่งเทรลได้ไหม เราก็ได้ไปเดินดู ไปศึกษา ก็พบว่ามีจุดเด่นที่น่าจะทำได้ ถ้านำเสนอได้ดีก็น่าจะสร้างความแตกต่างได้” เขาเล่าขณะนำภาพถ่ายขึ้นมาวางบนโต๊ะ หนึ่งในนั้นเป็นภาพถ่ายของหมออีมยืนโพสต์อยู่บนกองหินสีขาวโพลน ที่เคยถ่ายไว้ที่เอเวอเรสต์ พลางชี้ลงไปที่กองหินที่อยู่ในรูปภาพ “จุดเด่นที่ว่าก็คือที่เขาแด่นเนี่ย พื้นผิวมันไม่เหมือนที่ไหนในภูเขาเมืองไทย มีแต่หินลอยคล้ายๆ แบบในรูปนี้แหละ คือหินลอยเนี่ยมันเป็นหินก้อนย่อมๆ ไม่ใหญ่มากที่พอจะรับน้ำหนักของเรา แต่ก็ไม่ได้เล็กมากจนเป็นก้อนกรวดก้อนทราย นั่นหมายความว่าเวลาเราเหยียบลงไปมันพร้อมจะพลิก พร้อมจะคว่ำ คะมำหงายได้เลย

 

“ซึ่งมันยากนะ แต่ในมุมของนักวิ่งเทรลมันท้าทาย นักวิ่งเทรลก็อาจจะคล้ายกับกิจกรรมเอ็กซ์ตรีมหลายอย่าง คือเค้ามองหาความท้าทายนะ คนที่เค้านิยมกิจกรรมแบบนี้เค้าจะมองหาอะไรที่มันชาเล้นจ์ ที่มันขยับระดับขึ้นไปเรื่อยๆ เคยขึ้นภูเขาระดับ 2,000 ก็อาจจะมองหาระดับ 2,500 เคยขึ้น 6,000 ก็อาจจะมองหา 7,000 อะไรแบบนี้ นักวิ่งก็เช่นกัน”

 

 

ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์

 

เมื่อตรวจสอบความพร้อมของสถานที่และทำความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบเรียบร้อยแล้ว ในปี 2562 ดำเกิงจึงจัดงานวิ่งเทรลเต็มรูปแบบงานแรกขึ้นที่เพชรบุรี ในชื่อพริบพรี อีโค เทรล (Pribpree Eco Trail หรือ PET) ซึ่งมีนักวิ่งสมัครเข้าร่วมงานอย่างล้นหลามกว่า 1,200 คน และตอกย้ำความสำเร็จอีกครั้งในปีที่แล้วด้วยยอดผู้เข้าแข่งขันที่ทะลุไปกว่า 1,500 คน

 

ในขณะที่ความสำเร็จของกิจกรรมกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี สถานการณ์ระบาดรุนแรงของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่เริ่มลุกลามตั้งแต่ต้นปี ก็ทำให้แผนการทุกอย่างที่จะต้องสานต่อในปีนี้ต้องสะดุดลง งานวิ่งจัดไม่ได้ ร้านก็ไม่ได้เปิด เมื่อพอมีเวลาว่าง พร้อมๆ กับเสียงเรียกร้องจากนักวิ่งขาประจำ ทำให้เขาผุดโปรเจ็คท์ใหม่ขึ้นมาในชื่อ The Booster ที่เขาตั้งใจทำให้เป็นสนามฝึกซ้อมสำหรับนักวิ่งที่ต้องการความท้าทาย พัฒนาร่างกายและทักษะการวิ่งของตน ซึ่งกว่าจะจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้ก็เล่นเอาเจ้าของงานเหงื่อตก เพราะต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อผลักดันให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้

 

“ที่ใช้คำว่าพยายามเนื่องจากสถานการณ์ก่อนหน้านั้นไม่มีความชัดเจน ยอดติดเชื้อแต่ละวันก็หมื่นกว่า สองหมื่น มันก็ทำอะไรไม่ได้ จนกระทั่งเริ่มมีวี่แววว่าจะมีการคลายล็อก ก็ได้สัญญาณมาว่าถ้าจะจัด ก็อนุญาตได้ไม่เกิน 50 คน เราก็เลยเอา 50 เป็นตัวตั้ง แล้วก็ตีโจทย์ว่า 50 คนทำไงดี จัดงานครั้งเดียวไม่คุ้มหรอก ไม่ได้อะไร อันดับแรกเลยคือต้องไม่ถึงกับควักเนื้อ ก็เลยเกิดเป็นโมเดลว่า งั้นทำทั้งเดือนเลยมั้ย เสาร์-อาทิตย์ แต่ว่าทำแบบนั้นมันก็ไม่ใช่ race ไม่ใช่สนามแข่งขัน เพราะ race ควรต้องจัดในวันเดียวกัน แข่งขันกันในเวลาเดียวกัน บนเงื่อนไข สภาพอากาศ สภาพพื้นที่ การจัดการ เดียวกัน ซึ่งจัดแบบนั้นมันก็รับไม่ได้กับสเกลงานที่เคยรับคนเป็นพัน

 

“ตีโจทย์กันจนสุดท้ายก็เลยกลายเป็นโมเดลใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะทุกวันนี้ก็มีเสียงชื่นชมเข้ามา ว่าไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ไอเดียดีนะ ซึ่งเรายอมรับว่าเป็นเพราะสถานการณ์พาเรามา แต่เราก็จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่เงื่อนไขเขาเปิดโอกาสให้ โปรเจ็คท์ The Booster ก็เลยเกิดขึ้นมา ตลอดเสาร์และอาทิตย์ของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทีมงานเราก็เต็มที่กันทุกคน”

 

ความเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด ได้กลายมาเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของทีมงานที่เหล่านักวิ่งให้ความไว้วางใจ ซึ่งดำเกิงเองก็ไม่รู้ตัวมาก่อน จนกระทั่งมีหนึ่งในทีมงานมากระซิบบอกว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน The Booster ขอกันแต่งงานหลังจากวิ่งเข้าเส้นชัย

 

“เนื่องจากเป็นคนจัด เราก็ต้องรู้ซีเควนซ์งานทุกอย่าง เพื่อไม่ให้มีการเซอร์ไพรส์มากเกินไป ผมทราบแล้วก็อดเอาใจช่วย และตื่นเต้นกับเขาไปด้วยไม่ได้ ถ้าย้อนเวลากลับไปก็จะไปสะกิดบอกว่าอย่าลงระยะ 25k เลย เพราะเป็นระยะที่ค่อนข้างยาก กลัวว่าที่ภรรยาของเขาจะวิ่งไม่จบ แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็จบมาได้แบบต่อเวลานิดหน่อย เนื่องจากทุกอย่างสดหมด ฝ่ายผู้ชายเขาเตรียมอุปกรณ์มาเอง ไม่ว่าจะเป็นป้ายผ้า เวล (ผ้าคลุมผมเจ้าสาว) ก็เอามาด้วย ทุกคนที่อยู่ตรงนั้น น้องนักวิ่งอีกคนที่ไม่ได้มาวิ่งก็มาช่วยจัดแจงงาน ป๋าคมรัฐก็มาช่วยถือป้าย ก็เลยเกิดเป็นความทรงจำที่ดีร่วมกัน”

 

 

ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งการดูแลสิ่งแวดล้อม

 

การจัดกิจกรรมที่ต้องรับรองผู้คนจากหลากหลายแหล่งที่มา จำเป็นต้องวางแผนการจัดงานให้รัดกุม นอกจากในเรื่องของการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแล้ว การจัดการขยะก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งดำเกิงเองก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้นำเอาแนวคิดและประสบการณ์จากการรับหน้าที่เป็นแม่ทัพจัดงานที่ผ่านมามาปรับใช้ ตั้งแต่ทุกงานภายใต้ชื่อ TET for the Wild, PET รวมถึง The Booster ซึ่งเป็นกิจกรรมล่าสุด

 

“ทุกงานที่ผมจัดจะเน้นไปทางด้านอีโค (Eco) โดยมีคอนเซ็ปต์คือ งานวิ่งที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีแรกของงาน PET เราแจ้งให้นักวิ่งนำแก้วน้ำและช้อนส่วนตัวมาเอง เพราะเราต้องการลดขยะ ขยะต่อให้ทิ้งในงานก็เป็นขยะ แย่กว่านั้นคือการทิ้งในสนาม ซึ่งถ้าเป็นของส่วนตัวเขาก็จะไม่ทิ้ง ก็มีดราม่าบ้างนิดหน่อย แต่เราปล่อยให้เงื่อนไขทำหน้าที่คัดกรองคนเข้าร่วมงาน ซึ่งส่วนมากคนที่เข้าร่วมก็ยินดีและเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ

 

“ดังนั้นก็เลยเกิดเป็นสไตล์ของงาน Eco Trail งานวิ่งที่จะสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากงานให้น้อยที่สุด ขยะในงานจะมีการคัดแยก ทำป้าย แบ่งโซนไว้ชัดเจน ขวดน้ำทิ้งจุดหนึ่ง เศษอาหารทิ้งอีกจุดหนึ่ง แม้ว่างาน The Booster จะไม่ได้ทำเข้มข้นเหมือนกับงาน PET แต่เราก็พยายามทำเท่าที่จะทำได้ แต่เราไม่ห่วงเพราะ CP (จุดบริการ) อยู่ที่สถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นที่เดียวกับจุดปล่อยตัว และ CP ข้างนอกมีเพียงจุดเดียว ซึ่งเราบริหารจัดการได้เพราะรถเข้าถึงได้

 

“สิ่งที่ทุกคนไม่รู้คือขยะจากงานที่เราจัดทุกวัน เรานำกลับมาทิ้งในตัวเมืองเพชรบุรี เราจะไม่ทิ้งไว้ที่นั่น เพราะเรามองว่าพื้นที่ของราชภัฏใกล้ชิดกับธรรมชาติมาก ถ้าทิ้งไว้ที่นั่นอาจจะต้องรอการขนถ่ายออกไปข้างนอก กลายเป็นภาระ เราจึงพยายามจะจัดการให้จบในทุกสัปดาห์ หลังจากนักวิ่งกลับไปหมดแล้ว

 

“ความที่เป็นคนเดินป่าทำให้เห็นว่าธรรมชาติมันมีความสำคัญ มีอิทธิพลกับเรายังไง หากถามว่าควรจะลดจำนวนคนมาเที่ยวลงไหม ผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าการพาคนมาเที่ยวป่าเยอะๆ ทำให้คนรู้ถึงความสำคัญมากขึ้น ดีกว่าการผลักไม่ให้คนเข้ามา แล้วเขาก็จะไม่เห็น ไม่รู้ อะไรเลย ในฐานะที่เป็นคนจัดงาน ถ้ามีคนฟังเราไม่ว่าจะเป็นงาน The Booster วันละ 50 คน หรืองาน PET วันละ 1,500 คน หรือจะกี่คนก็ได้ มันก็ยังดีที่อย่างน้อยผมก็ได้ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์บางอย่างลงไป ให้เขาได้มองอะไรได้ลึกขึ้น นั่นคือจุดประสงค์ของการจัดงาน”

 

 

ความภูมิใจที่สร้างได้จากสองมือ

 

ความตั้งใจของดำเกิงและทีมงานในการปรับสภาพพื้นที่ให้สะอาด และกลับคืนสู่ปกติทุกครั้งหลังจบกิจกรรม ทำให้ทั้งนักวิ่งขาประจำหลายคน รวมถึงคนในพื้นที่เริ่มเห็นความสำคัญ และเอ่ยปากขอมีส่วนร่วมในการเก็บกวาด จนเขาอดใจไม่ไหว จัดกิจกรรมพิเศษเชิญชวนนักวิ่งมาเดินเก็บขยะ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

 

“งานเก็บขยะเนี่ย เอาจริงก็ไม่ได้ตั้งใจซะทีเดียว เพราะปกติงานวิ่งเทรลทุกงานเนี่ย เราจะต้องเข้าไปจัดการทำสนาม ทำป้ายบอกทาง ผูกริบบิ้นหรือเทปสีขาวแดงที่เอาไว้กันถนน พวกนี้เป็นสิ่งแปลกปลอมในป่า หลังจากจบงานแล้วเราก็จะเก็บทุกครั้ง ซึ่งในฐานะที่ผมเป็นนักวิ่งเองด้วย ก็อยากวิ่งชมธรรมชาติ ไม่อยากต้องมาเห็นขยะตามรายทาง มันน่าหงุดหงิด

 

“บังเอิญมีโอกาสได้คุยกับพี่ป้อม-สัญญา คานชัย หนึ่งในนักวิ่งเทรลที่เก่งที่สุดของไทย ในวันที่เขามาวิ่งที่งาน The Booster พอพี่เขารู้ว่าเราจะมาเก็บขยะกันหลังงานก็เสนอตัวมา ‘ผมจะมาช่วยนะ จะเก็บขยะกันวันไหน ถ้าว่างเดี๋ยวผมมา’ ก็เลยเกิดเป็นไอเดียต่อยอดว่าถ้างั้นชวนนักวิ่งมาช่วยกันเก็บพร้อมๆ กันเลยดีกว่า แทนที่จะทำกันเอง ภูมิใจกันเอง ก็ชวนคนมาทำอะไรดีๆ ร่วมกันด้วย พี่กบก็ช่วยติดต่อหาสปอนเซอร์ดูแลอาหารการกิน เลยเกิดเป็นโปรเจ็คท์เก็บขยะขึ้นมา 

 

“ซึ่งก็เซอร์ไพรส์มากว่ามีคนสมัครเข้ามาเต็มจำนวน 50 คน และเมื่อปิดแล้วก็ยังมีสมัครเพิ่มมาอีก 3 คนก่อนวันงาน ทุกคนขับรถมาเอง มาเจอกัน ไม่ได้มาซ้อมเพื่อฝึกฝนร่างกาย แต่มาเสียเหงื่อ มาลำบากเดินร้อนๆ เก็บขยะสกปรกกัน จนได้มากองโตมาก ข้างบนเอารถขนลงมา ข้างล่างก็ทำงานคัดแยกขยะต่อ

 

“การคัดแยกมีความสำคัญมาก เพราะถ้าไม่คัดแยกทุกอย่างทุกนำไปรวมกัน มูลค่าก็หาย คุณค่าก็หาย มูลค่าก็อย่างเช่นถ้ามันรีไซเคิลได้ มันก็ควรมีมูลค่าส่งไปรีไซเคิล ลดการผลิตซ้ำ ไม่เสียทรัพยากรในการผลิตเพิ่ม ส่วนคุณค่าก็อย่างเช่น ถ้ามันสามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้ มันไม่ควรจะไปรวมอยู่กับพลาสติก มันควรจะอยู่รวมกันกับสารอินทรีย์ด้วยกัน เป็นออร์แกนิคด้วยกัน มันก็จะถูกแบคทีเรียย่อยสลายตัวมันเอง กลายเป็นปุ๋ย และคืนคุณค่าตัวมันเองสู่ธรรมชาติต่อไป”


 

 สร้างสะพานแห่งความยั่งยืน มอบกลับคืนสู่สังคม

 

ตลอดการเดินทางที่ผ่านมาของชายคนนี้ เขาตระหนักดีว่าธรรมชาตินั้นมีความสำคัญ และมีคุณูปการต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ขนาดไหน ดำเกิงมองว่าการจัดกิจกรรมใดๆ ก็ตามในพื้นที่เขตป่า ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเขาเองก็ได้พยายามหาจุดเชื่อมต่อให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรม และสร้างความภูมิใจในชุมชนของตนเองให้ได้มากที่สุด

 

“กิจกรรมเหล่านี้เป็นการพาคนนอกพื้นที่ หรือคนเมืองเข้าไป ผมไม่ต้องการให้คนสองกลุ่มนี้ ที่มีไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนกันต้องแยกออกจากกัน อยากให้เขาเชื่อมต่อกันให้ได้มากที่สุด เวลาจัดงานวิ่ง ผมพยายามจะเอาอาหารท้องถิ่น ขนมในพื้นที่มาแนะนำ งานหัตถกรรม ศิลปะวัฒนธรรมที่เขามี ให้เขาได้อวดความเป็นชุมชนของเขา จากนั้นก็จะเกิดความภูมิใจ และรักในชุมชนของเขา สุดท้ายมันก็จะเกิดความยั่งยืน

 

“อย่างเช่นเวลาเขาจะทำอะไรให้บ้านเขาสกปรก ก็จะต้องคิดก่อนว่าเดี๋ยวถ้ามีแขกมาเขาจะไม่ชอบนะ มันก่อให้เกิดผลดีหลายอย่าง ไม่ใช่แค่จัดงานเสร็จแล้วก็กลับ มันน่าจะส่งผลระยะยาวลงไปในความคิดความรู้สึกของทุกคนที่เข้าร่วม ไม่ว่ามาในฐานะอะไรก็ตาม นักวิ่งที่มาเข้าร่วม มาวิ่งเสร็จ ได้เหรียญ ได้เสื้อ ได้ถ้วยแล้วก็เลิก ผมไม่ได้หวังแค่นั้น และผมก็คิดว่าที่ผ่านมาผมทำงานแบบนั้น จึงมีฟีดแบ็คว่านักวิ่งคิดถึงงาน อยากมาร่วมงาน นักวิ่งรู้สึกผูกพัน ในขณะที่ชุมชนก็เป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญมากๆ เพราะเป็นเจ้าบ้าน

 

“เอาจริงๆ The Booster ก็เป็นงานที่มีเบื้องหลังมาจากคนในพื้นที่ ที่สอบถามกันบ่อยๆ ว่าปีนี้ไม่จัดเหรอ จนเราถูกกระตุ้นบ่อยๆ ก็อยู่เฉยไม่ได้ ก็เปิดเป็นงานขึ้นมา ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นว่าชุมชนรอบๆ ก็เริ่มมาถามว่าจัดงานวิ่งให้เขาบ้างได้มั้ย หรือจัดเส้นทางให้วิ่งผ่านหมู่บ้านของเขาด้วยได้ไหม ซึ่งก็น่ายินดี เพราะถ้ามันทำให้เกิดกระแสขึ้นมาได้ เขาก็ต้องพยายามทำให้บ้านเขาดี ผลประโยชน์สุดท้ายก็ตกอยู่ที่หมู่บ้าน เพราะผู้นำชุมชนทำให้บ้านของเขาดี”

 

เป็นเรื่องน่าทึ่งที่จุดเริ่มต้นเล็กๆ จากความชอบส่วนตัวของชายคนนี้ ได้แผ่ขยายออกเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนอีกหลายคนหันมาใส่ใจและอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งยังค่อยๆ สร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน

 

“อยากฝากไว้ว่า กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่เราใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ หวังว่าจะเห็นคุณค่าและประโยชน์ของมัน เมื่อเห็นคุณค่าแล้วเราจะรู้สึกหวงแหน ผูกพัน และอยากทำตัวเองให้เป็นประโยชน์ หรืออย่างน้อยถ้าไม่ช่วยก็ไม่ควรทำลาย ไม่ทำให้มันดีขึ้นก็ได้แต่ต้องไม่ทำให้มันแย่ลง ลดคนทิ้งขยะลงไปในน้ำ ในคลอง ข้างถนนวันละคนสองคนก็ดีแล้วนะผมว่า”

 

####

 

PATHWILD All Outdoor Adventure & Travel Gear

https://www.pathwild.com

Facebook: pathwild | Line: @pathwild | โทร. 098 279 8090

 

Pribpree Eco Trail

Facebook: PribpreeEcoTrail

 

The Booster

Facebook: theboostertrail

TrueVisions

อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร :

Website : www.truevisions.co.th

Facebook : Truevisions

Twitter : @TrueVisions

Line : @Truevisions

Youtube official : Truevisionsofficial

Instagram : Truevisionsofficial