“ออสเตรียน กรังด์ปรีซ์” สนามที่พร้อมจะต้อนรับนักขับทุกคนจาก “เร้ดบูลล์ เรซิ่ง” ท่ามกลางอาณาจักรที่ได้รับการพลิกฟื้นใน สปีลเบิร์ก
ออสเตรียน กรังด์ปรีซ์ สนามที่ได้ชื่อว่าเป็นสนามเหย้าของทีม เร้ดบูลล์ เรซิ่ง แตกต่างจาก ซิลเวอร์สโตน เซอร์กิต ที่แฟนๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นถิ่นของนักขับอย่าง ลูอิส แฮมิลตัน แชมป์โลก 7 สมัยชาวอังกฤษ แต่ก็มีดาวรุ่งอย่าง ลันโด นอร์ริส และ จอร์จ รัสเซลล์ ที่อาจได้ครองตำแหน่งเจ้าสนามคนถัดไปบ้าง ไม่ว่าพวกเขาจะสังกัดทีมไหน ขณะที่ชาวออสเตรียพร้อมจะต้อนรับใครก็ตามที่ซิ่งรถอยู่ภายใต้โลโก้ของทีม
เริ่มแรกในปี 1963 การแข่งขัน ฟอร์มูล่า วัน จัดขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรีย ห่างจาก กราซ เมืองหลวงไปทางตะวันตกประมาณ 70 กม. จากนั้นย้ายไปที่สปีลเบิร์กในอีก 6 ปีต่อมา ทั้งสองสนามมีความยาวต่อรอบพอๆ กันที่ 4 กม. ก่อนย้ายไปที่ ออสเตอร์เรคริง ซึ่งผู้คนเรียกกันว่า เอ-วัน ริง ในเวลาต่อมา จากการปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ฝ่ายจัดและนักขับ รวมทั้งแฟนๆ เห็นความสำคัญตรงกันในยุค 60 จากนั้นสนามนี้จัดการแข่งขันยาวนานตั้งแต่ปี 1970-1987 เคยเป็นส่วนหนึ่งของ ยูโรเปี้ยน กรังด์ปรีซ์ ด้วยเช่นกัน
เข้าสู่ยุคโมเดิร์น เมื่อ ฟอร์มูล่า วัน โดยสหพันธ์ยานยนตร์นานาชาติพยายามสร้างความเติบโตให้การแข่งขันเป็นที่รู้จักแพร่หลาย และค้นหาความท้าทายตื่นเต้นใหม่ๆ ออสเตรียน กรังด์ปรีซ์ หายไปจากปฏิทิน ตอนนั้นเองก็มีมหาเศรษฐี ดีทริช มาเตชิตซ์ ที่ต้องการใช้กีฬาในการโปรโมตเครื่องดื่มชูกำลังก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจนี้
ปี 2004 มาเตชิตซ์ เทคโอเวอร์ทีม จากัวร์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เร้ดบูลล์ เรซิ่ง แต่เขาไม่ได้ทำแค่นั้น เขาซื้อสนาม เอ-วัน และมันก็เปลี่ยนชื่อกลายเป็น เร้ดบูลล์ ริง ที่จริงแล้วบ้านเกิดของเขาอยู่ห่างจากสนามไปประมาณ 60 กม. และปัจจุบันเขายังใช้ชีวิตที่ประเทศออสเตรีย รวมถึงสำนักงานใหญ่ของเครื่องดื่มชูกำลังรูปวัวสีแดงก็ตั้งอยู่ใน ซัลส์บวร์ก
จะว่าไปแล้ว แม้ ออสเตรีย เป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรไม่เกิน 9 ล้านคน แต่ก็ผลิตแชมป์โลกที่โด่งดังทั้ง นิกิ เลาด้า และ โยเค่น รินด์ แถมด้วยนักขับที่ประสบความสำเร็จอย่าง แกร์ฮาร์ด แบร์เกอร์ และ อเล็กซานเดอร์ วูร์ซ เมื่อประกอบประวัติศาสตร์เข้ากับธุรกิจที่นี่จึงไม่ควรเป็นที่ที่ใครจะมองข้ามไปได้
ไม่เพียงแค่สนาม ที่ได้รับการปรับปรุง เพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกและแกรนด์แสตนด์เข้าไป เลาด้า เคยกล่าวในปี 2011 เขาบอกว่าพื้นที่บริเวณรอบสนามคงเงียบเหงาเหี่ยวเฉา หากไม่มีการลงทุนโดย เร้ดบูลล์ และเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยดี เขายังยืนยันด้วยตัวเองว่า ที่นี่สมบูรณ์ยอดเยี่ยมไม่ต่างจาก บาห์เรน ซึ่งก็สมใจ มาเตชิตซ์ เช่นกัน เพราะเขาลงทุนไปมาก และต้องการสัญญาระยะยาวที่ เอฟไอเอ จะมาเยือนที่นี่ จากวันนั้นมาในปี 2022 ถือว่าเกินคาด
เร้ดบูลล์ สนับสนุนนักกีฬา ทีมกีฬา และมีทีมกีฬาเป็นของตัวเอง ทั้ง เร้ดบูลล์ ซัลส์บวร์ก และ อาร์บี ไลป์ซิก แถมด้วยศูนย์ฝึกพัฒนาเยาวชนและการส่งนักเตะไปสู่อาชีพ ดังนั้นจะแปลกอะไรถ้ามีสนามเป็นของตัวเอง แถมยังมีทีมถึง 2 ทีมในต่างชื่ออยู่ร่วมการแข่งขันเดียวกัน ไม่ต่างจากทีมฟุตบอลทั้งสองอยู่ในลีกเดียว สิ่งสุดท้ายที่ยังไม่เคยลอง น่าจะเป็นการจัดการแข่งขัน ฟอร์มูล่า วัน และมันก็เกิดขึ้นจริง ถึงอย่างนั้นชื่อของ เร้ดบูลล์ ก็ยังไม่เคยเป็นผู้สนับสนุนหลัก ออสเตรียน กรังด์ปรีซ์
แผนผังของสนามแห่งนี้ ดูด้วยตาอาจรู้สึกน่าเบื่อ ที่นี่ใช้โครงสร้างที่ใกล้เคียงสนามเดิม มีทางตรงยาว และมีแค่ 7 โค้ง ซึ่งนักขับที่เคยขับในชื่อ เอ-วัน ริง จนถึงตอนนี้เหลือเพียง เฟร์นานโด อลอนโซ่ เป็นคนสุดท้าย เพราะ คิมี่ ไรโคเน่น เพิ่งรีไทร์ไปหมาดๆ
เจนสัน บัตตัน หนึ่งในอดีตนักขับพูดถึงสนามนี้ว่า ถ้ามองดูแล้วเห็น 7 โค้ง ก็คงคิดว่าขับไม่สนุกแน่ แต่มันกลายเป็นสนามที่ดีมาก สนุกทุกครั้งเลย” แต่ปัจจุบัน เพื่อให้มีความท้าทายจึงมี 10 โค้ง
เจ้าของสถิติความเร็วต่อรอบคือ คาร์ลอส ไซนซ์ ที่ทำไว้ใน สตีเรี่ยน กรังด์ปรีซ์ เมื่อปี 2020 เวลา 1.05.619 นาที ส่วนแชมป์มากสมัยที่สุด 3 สมัย อแล็ง พรอสต์ และ แม็กซ์ เวอร์สเตปเปน ที่ยังมีโอกาสทุบสถิติใหม่ในอีกหลายปีต่อจากนี้ ส่วนทีมผู้สร้างที่คว้าแชมป์มากที่สุดคือ ฟอร์ด 10 สมัย แต่หากนับเฉพาะทีมที่ยังลงแข่งอยู่คือ เมอร์ซิเดส 8 สมัย
ไม่ต้องสงสัยเลย นักขับจาก เร้ดบูลล์ (และอาจจะรวม อัลฟ่าเทารี) จะได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม ในอาณาจักรที่ที่ก่อสร้างโดยเจ้าของคนเดียวกัน ทั้งสนาม และทีมที่เป็นผลผลิตของการลงทุนอย่างมีความหมาย
F1DRIVE
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร :
Website : www.truevisions.co.th
Facebook : Truevisions
Twitter : @TrueVisions
Line : @Truevisions
Youtube official : Truevisionsofficial
Instagram : Truevisionsofficial