Music Under the Swastika - The Maestro and the Cellist of Auschwitz

Music Under the Swastika - The Maestro and the Cellist of Auschwitz
วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 10.30 น. – DW English (349)

ลมหนาวเย็นยะเยือกที่โชยมาอย่างแผ่วเบา อาจฉาบไล้ผิวกายภายนอกของ อนิตา ลาสเกอร์-วอลฟิสช์ (Anita Lasker-Wallfisch) คุณยายวัย 97 ปีให้รู้สึกสดชื่น แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องลึกภายในจิตใจและใบหน้าที่เปี่ยมด้วยรอยยิ้มนั้นซ่อนผู้หญิงกร้านโลกคนหนึ่งเอาไว้อย่างมิดชิด ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ยังคงถูกความทรงจำอันเลวร้ายตามหลอกหลอนมานานหลายปี จากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฮอโลคอสต์อันโหดเหี้ยม ที่เธอรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิดเพราะความสามารถในการเล่นดนตรี


เดือนธันวาคม ปี 1943 อนิตาในวัย 18 ปี ถูกควบคุมตัวไปยังค่ายกักกันเอาชวิตซ์พร้อมกับเพื่อนร่วมชาติอีกจำนวนหนึ่ง “ทุกคนรู้จักเอาชวิตซ์กันหมดแล้วในตอนนั้น หากใครถูกพาไปที่นั่นก็จะไม่มีวันรอดชีวิตกลับมา แน่นอนว่าชีวิตของพวกเรากำลังจะจบลง” อนิตาหยุดหลับตาชั่วครู่ ราวกับพยายามต่อสู้กับความทรงจำอันเลวร้ายที่รอคอยจังหวะผุดขึ้นมาหลอกหลอน “และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ฉันได้เห็นหน้าพ่อกับแม่ของฉัน”


โชคชะตายังเข้าข้างสาวน้อย เมื่อเจ้าหน้าที่ของค่ายทำการซักประวัติของเธออย่างละเอียด และพบว่าอนิตาสามารถเล่นเชลโลได้ เธอจึงถูกส่งตัวไปยังคณะออร์เคสตราหญิงล้วนที่ทำหน้าที่บรรเลงเพลงให้เหล่านักโทษได้ฟังภายในค่ายทุกเช้าและช่วงเย็นของทุกวัน



แม้ในมุมของนักโทษการได้ยินเสียงดนตรีนั้นมีส่วนช่วยให้พวกเขาลืมนรกขุมนี้ไปได้ชั่วขณะ แต่โดยเนื้อแท้ของมันแล้ว พวกนาซีต้องการใช้ดนตรีเพื่อกลบเกลื่อนความเสื่อมทรามของค่ายกักกันแห่งนี้ เพื่อให้รอดพ้นจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่จากเหล่ากาชาด


ต่อมาเมื่อกองกำลังจากโซเวียตรุกเข้ามาใกล้ พวกนาซีจึงพากันแยกย้ายไปยังค่ายกักกันอื่น อนิตาถูกส่งขึ้นรถไปยังค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซน ที่เธอปรารภว่าไม่สามารถหาคำพูดใดๆ มาบรรยายได้ “ศพแล้วศพเล่าที่เราเดินเหยียบย่ำในค่ายแห่งนั้น มัน … บรรยายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ค่ะ”


อนิตาถูกควบคุมตัวอยู่ที่นี่กระทั่งปี 1945 กระทั่งได้รับการปลดปล่อยโดยกองพลยานเกราะบริติชที่ 11 ในช่วงเวลาใกล้วาระสุดท้ายของสงคราม ภาพเบื้องหน้าอันน่าสยดสยองของศพที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดกว่า 13,000 ศพ กับเชลยศึกอีกราว 60,000 คนในสภาพซูบผอม อิดโรย และป่วยหนัก สร้างความสะพรึงเป็นอย่างมาก “พวกทหารอังกฤษคงคิดไม่ถึงว่าสภาพภายในค่ายกักกันแห่งนี้ คือหลุมศพดีๆ นี่เอง” อนิตากล่าวทิ้งท้าย


หนึ่งปีหลังจากนั้นอนิตาจึงย้ายถิ่นฐานมาตั้งต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศอังกฤษ และไม่คิดหวนกลับไปเหยียบประเทศเยอรมันอีกหลายปีต่อมา จนปี 1994 เธอจึงยอมนำเอาประสบการณ์ชีวิตอันโหดร้ายมาเปิดเผยเพื่อเป็นอุทาหรณ์ และอุทิศตนเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการรณรงค์เพื่อยุติความอคติทางชาติพันธุ์ต่อชาวยิว (Antisemitism) จากนั้นเป็นต้นมา


รับชมเรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของอนิตาและพลังแห่งเสียงเพลง กับบันทึกประวัติศาสตร์หน้าที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ไปพร้อมกันกับรายการ Music Under the Swastika - The Maestro and the Cellist of Auschwitz วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 10.30 น. ทาง DW English ช่อง 349

Deutsche Welle (DW)

อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร :

Website : www.truevisions.co.th

Facebook : Truevisions

Twitter : @TrueVisions

Line : @Truevisions

Youtube official : Truevisionsofficial

Instagram : Truevisionsofficial